การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน สำคัญอย่างไร
ชายและหญิงก่อนแต่งงานควรมีการตรวจสุขภาพก่อน
เพื่อตรวจหาโรคที่อาจเป็นแต่ยังไม่แสดงอาการหรือไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็น
โรคที่ควรตรวจหาคือโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์
เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เอดส์
นอกจากนี้ก็ควรตรวจหาโรคที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หรือติดต่อไปยังทารกในครรภ์ด้วย เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
สำหรับผู้หญิงนอกจากการตรวจโรคดังกล่าวแล้ว
อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าเป็นโรคบางโรคที่อาจเกิดอันตรายได้เมื่อตั้งครรภ์
เช่น โรคเบาหวาน ดังนั้น หากตรวจพบว่าคู่แต่งงานเป็นโรค
ก็ทำการรักษาถ้าได้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคู่แต่งงานหรือลูก
หรือหากรักษาไม่ได้ เช่น ถ้าคู่แต่งงานเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
ก็อาจจำเป็นต้องงดการมีบุตร
อันจะเป็นผลให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ควรตรวจอะไรบ้าง
ผู้ที่เตรียมตัวจะแต่งงานทั้งชายและหญิงควรได้รับการตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป
เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมทั้งรับการตรวจเลือดหรือการตรวจพิเศษ
เช่น การถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์)
การตรวจภายในอุ้งเชิงกรานด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นต้น
เพื่อดูว่าเป็นโรคหรือไม่
โรคนั้นเป็นอันตรายหรือไม่
และโรคนั้นติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
ถ้าเป็นโรคที่รักษาได้ ก็รักษาให้หายก่อน
หรือหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้โรคติดต่อไปยังคู่แต่งงานใน
การตรวจเลือดของคู่แต่งงานนั้น เป็นการตรวจดูความข้นของเลือด
เพื่อหาว่าโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่
หรือตรวจหาว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เช่น ซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หรือติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
หรือตรวจว่าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือไม่
ดิฉันและแฟนเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย
หมอบอกว่าถ้าดิฉันมีลูก ลูกอาจเป็นโรคธาสลัสซีเมีย
ขอทราบว่าโรคนี้คืออะไรโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่ง
เกิดจากความผิดปกติของสายพันธุกรรมที่สร้างส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง
ทำให้เม็ดเลือดแดงมีคุณสมบัติต่างไปจากปกติ
กล่าวคือ เป็นเม็ดเลือดแดงที่แตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงซีด มีเลือดจาง
และจะมีตับโต ม้ามโต
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีหน้าตาลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ จมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา
โหนกแก้มสูง คางและกระดูกขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น
ทำให้ใบหน้าเปลี่ยนไปจากพ่อแม่ ผิวหนังสีคล้ำ กระดูกเปราะ หักง่าย
ร่างกายเจริญเติบโตช้า และอายุสั้นกว่าคนทั่วไป
บางรายรุนแรงมากจนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์
โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่มายังลูกได้ในประเทศไทย
มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1 และ
อีกประมาณร้อยละ 40 มีสายพันธุกรรมที่ผิดปกติแฝงอยู่กับสายพันธุกรรมปกติ
ซึ่งเรียกว่าเป็นพาหะของโรค
ดิฉันและสามีเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียทั้งคู่
เมื่อมีลูก ลูกดิฉันจะเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่
โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ดังนั้นความเสี่ยงในการเป็นโรคธาลัสซีเมียของลูก
จึงขึ้นกับว่าพ่อและแม่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคหรือไม่
1. ถ้าพ่อหรือแม่มีสายพันธุกรรมแฝงเพียงคนเดียว
โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง) ในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์
เท่ากับร้อยละ 50 และเป็นปกติ ร้อยละ 50
2. ถ้าพ่อแม่และแม่มีสายพันธุกรรมแฝงทั้งคู่
โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 25
เป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง) ร้อยละ 50 และเป็นปกติร้อยละ 25
3. ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนปกติ
โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง)
ในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 100
4. ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนมีสายพันธุกรรมแฝง
โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับ ร้อยละ 50
และมีสายพันธุกรรมแฝงร้อยละ 50
จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก่อนแต่งงานหรือไม่
การฉีดวัคซีนเป็นการให้ภูมิคุ้มกันโรคอย่างหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะป้องกันการเกิดโรคในผู้หญิงแล้ว
ยังมีผลป้องกันทารกในครรภ์ทำให้ไม่เป็นโรคด้วย
การฉีดวัคซีนอาจฉีดก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ก็ได้
ทั้งนี้หากจะฉีดก่อนตั้งครรภ์ ก็ต้องวางแผนให้ดี
กล่าวคือต้องมีการคุมกำเนิดในช่วงของการฉีดวัคซีน
ซึ่งควบคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน
สำหรับวัคซีนที่มีการฉีดให้แก่สตรีก่อนแต่งงานหรือก่อนที่จะตั้งครรภ์ มีอยู่ 3 ชนิด
ได้แก่วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงและโอกาสที่สตรีจะสัมผัสโรค
ถ้าเสี่ยงมาก เช่นทำงานในสถานพยาบาลที่อาจต้องสัมผัสกับเลือดผู้ป่วยก็ควรฉีด
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน
ควรฉีดให้แก่สตรีก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
เนื่องจาก โรคบาดทะยักเป็นโรคที่ทารกมีโอกาสเป็นหลังคลอด
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกเสียชีวิต
ส่วนโรคหัดเยอรมันแม้จะไม่มีอันตรายต่อสตรีโดยตรง
แต่ถ้าเป็นโรคหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น หูหนวก มีความผิดปกติของหัวใจและนัยน์ตา
ในทั้ง 2 กรณีควรคุมกำเนิดหลังจากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เดือนด้วย
เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ยังต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนแต่งงานหรือไม่แม้ว่าจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ก็ควรฉีดอีก เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนจะไม่อยู่คงทนตลอดเท่าอายุขัยของคน
สำหรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักนี้มีกำหนดเวลาฉีดวัคซีน
เริ่มจากเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 1 เดือน
และอีก 6 เดือนถึง 1 ปี ฉีดเข็มที่ 3 หลังจากนั้นฉีดทุก ๆ 10 ปี
ในกรณีที่สตรีไม่เคยฉีดมาก่อนเลยแต่กำลังจะแต่งงาน ก็ให้เริ่มฉีดได้
และหากจะตั้งครรภ์ควรรอหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
เตรียมพร้อมก่อนสมรส... เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
การไปตรวจสุขภาพร่างกายทั้งชายและหญิงก่อนจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน มีความสำคัญมาก
สามารถที่จะเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนตั้งครรภ์ได้
เพื่อตรวจดูว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคร้ายที่จะถ่ายทอดทางการมีเพศสัมพันธ์
จนอาจจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ถ้าเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว
โรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางชนิด และโรคที่เกิดจากไวรัสหลายชนิด
มีผลต่อการพัฒนา การสร้างอวัยวะของทารกในช่วง 3 เดือนแรก
อาจส่งผลให้สภาพร่างกายของทารกไม่สมบูรณ์เพียงพอ
ที่จะเจริญเติบโตต่อไป แล้วเสียชีวิตในที่สุด เกิดภาวะครรภ์ไข่ฝ่อ
หรือเกิดการแท้งบุตร ในช่วงการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรกได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าตรวจพบก่อนเกิดการตั้งครรภ์
ก็จะสามารถดูแลแก้ไขและรักษาให้หายได้ จนไม่เป็นภัยต่อการตั้งครรภ์ และการแท้งบุตร
สามารถตรวจหาภูมิต้านทานต่อโรค ที่เกิดจากหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี
และสามารถให้ภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีนให้ ในกรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน
การตรวจร่างกายฝ่ายหญิง ก็สามารถทราบได้ว่ามดลูกปกติไหม
มีเนื้องอกอยู่หรือไม่ รวมทั้งมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน มีพังผืด
หรือมีถุงน้ำของรังไข่หรือเปล่า
ถ้าตรวจพบก่อน ก็สามารถรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment