การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน สำคัญอย่างไร
ชายและหญิงก่อนแต่งงานควรมีการตรวจสุขภาพก่อน
เพื่อตรวจหาโรคที่อาจเป็นแต่ยังไม่แสดงอาการหรือไม่เคยทราบมาก่อนว่าเป็น
โรคที่ควรตรวจหาคือโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์
เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เอดส์
นอกจากนี้ก็ควรตรวจหาโรคที่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรม
หรือติดต่อไปยังทารกในครรภ์ด้วย เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
สำหรับผู้หญิงนอกจากการตรวจโรคดังกล่าวแล้ว
อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาว่าเป็นโรคบางโรคที่อาจเกิดอันตรายได้เมื่อตั้งครรภ์
เช่น โรคเบาหวาน ดังนั้น หากตรวจพบว่าคู่แต่งงานเป็นโรค
ก็ทำการรักษาถ้าได้เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับคู่แต่งงานหรือลูก
หรือหากรักษาไม่ได้ เช่น ถ้าคู่แต่งงานเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
ก็อาจจำเป็นต้องงดการมีบุตร
อันจะเป็นผลให้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย
การตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน ควรตรวจอะไรบ้าง
ผู้ที่เตรียมตัวจะแต่งงานทั้งชายและหญิงควรได้รับการตรวจร่างกายทั่ว ๆ ไป
เพื่อดูความสมบูรณ์ของร่างกาย รวมทั้งรับการตรวจเลือดหรือการตรวจพิเศษ
เช่น การถ่ายภาพรังสี (เอกซเรย์)
การตรวจภายในอุ้งเชิงกรานด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นต้น
เพื่อดูว่าเป็นโรคหรือไม่
โรคนั้นเป็นอันตรายหรือไม่
และโรคนั้นติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่
ถ้าเป็นโรคที่รักษาได้ ก็รักษาให้หายก่อน
หรือหาวิธีป้องกันเพื่อไม่ให้โรคติดต่อไปยังคู่แต่งงานใน
การตรวจเลือดของคู่แต่งงานนั้น เป็นการตรวจดูความข้นของเลือด
เพื่อหาว่าโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียหรือไม่
หรือตรวจหาว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เช่น ซิฟิลิส เอดส์ ไวรัสตับอักเสบบี หรือติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่
หรือตรวจว่าเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย หรือไม่
ดิฉันและแฟนเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย
หมอบอกว่าถ้าดิฉันมีลูก ลูกอาจเป็นโรคธาสลัสซีเมีย
ขอทราบว่าโรคนี้คืออะไรโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดชนิดหนึ่ง
เกิดจากความผิดปกติของสายพันธุกรรมที่สร้างส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดง
ทำให้เม็ดเลือดแดงมีคุณสมบัติต่างไปจากปกติ
กล่าวคือ เป็นเม็ดเลือดแดงที่แตกง่าย ผู้ที่เป็นโรคนี้จึงซีด มีเลือดจาง
และจะมีตับโต ม้ามโต
ผู้ป่วยโรคนี้จะมีหน้าตาลักษณะเฉพาะ กล่าวคือ จมูกแบน กะโหลกศีรษะหนา
โหนกแก้มสูง คางและกระดูกขากรรไกรกว้างใหญ่ ฟันบนยื่น
ทำให้ใบหน้าเปลี่ยนไปจากพ่อแม่ ผิวหนังสีคล้ำ กระดูกเปราะ หักง่าย
ร่างกายเจริญเติบโตช้า และอายุสั้นกว่าคนทั่วไป
บางรายรุนแรงมากจนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ในครรภ์
โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อและแม่มายังลูกได้ในประเทศไทย
มีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียประมาณร้อยละ 1 และ
อีกประมาณร้อยละ 40 มีสายพันธุกรรมที่ผิดปกติแฝงอยู่กับสายพันธุกรรมปกติ
ซึ่งเรียกว่าเป็นพาหะของโรค
ดิฉันและสามีเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียทั้งคู่
เมื่อมีลูก ลูกดิฉันจะเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่
โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
ดังนั้นความเสี่ยงในการเป็นโรคธาลัสซีเมียของลูก
จึงขึ้นกับว่าพ่อและแม่เป็นโรคหรือเป็นพาหะของโรคหรือไม่
1. ถ้าพ่อหรือแม่มีสายพันธุกรรมแฝงเพียงคนเดียว
โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง) ในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์
เท่ากับร้อยละ 50 และเป็นปกติ ร้อยละ 50
2. ถ้าพ่อแม่และแม่มีสายพันธุกรรมแฝงทั้งคู่
โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 25
เป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง) ร้อยละ 50 และเป็นปกติร้อยละ 25
3. ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนปกติ
โอกาสที่ลูกจะเป็นพาหะ (มีสายพันธุกรรมแฝง)
ในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับร้อยละ 100
4. ถ้าพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งเป็นโรค อีกคนมีสายพันธุกรรมแฝง
โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคในแต่ละครั้งของการตั้งครรภ์เท่ากับ ร้อยละ 50
และมีสายพันธุกรรมแฝงร้อยละ 50
จำเป็นต้องฉีดวัคซีนก่อนแต่งงานหรือไม่
การฉีดวัคซีนเป็นการให้ภูมิคุ้มกันโรคอย่างหนึ่ง
ซึ่งนอกจากจะป้องกันการเกิดโรคในผู้หญิงแล้ว
ยังมีผลป้องกันทารกในครรภ์ทำให้ไม่เป็นโรคด้วย
การฉีดวัคซีนอาจฉีดก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์ก็ได้
ทั้งนี้หากจะฉีดก่อนตั้งครรภ์ ก็ต้องวางแผนให้ดี
กล่าวคือต้องมีการคุมกำเนิดในช่วงของการฉีดวัคซีน
ซึ่งควบคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน
สำหรับวัคซีนที่มีการฉีดให้แก่สตรีก่อนแต่งงานหรือก่อนที่จะตั้งครรภ์ มีอยู่ 3 ชนิด
ได้แก่วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน
ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี
ควรพิจารณาถึงความเสี่ยงและโอกาสที่สตรีจะสัมผัสโรค
ถ้าเสี่ยงมาก เช่นทำงานในสถานพยาบาลที่อาจต้องสัมผัสกับเลือดผู้ป่วยก็ควรฉีด
สำหรับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน
ควรฉีดให้แก่สตรีก่อนแต่งงานหรือก่อนตั้งครรภ์
เนื่องจาก โรคบาดทะยักเป็นโรคที่ทารกมีโอกาสเป็นหลังคลอด
และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทารกเสียชีวิต
ส่วนโรคหัดเยอรมันแม้จะไม่มีอันตรายต่อสตรีโดยตรง
แต่ถ้าเป็นโรคหัดเยอรมันในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
ก็อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เช่น หูหนวก มีความผิดปกติของหัวใจและนัยน์ตา
ในทั้ง 2 กรณีควรคุมกำเนิดหลังจากฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เดือนด้วย
เคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ยังต้องฉีดวัคซีนนี้ก่อนแต่งงานหรือไม่แม้ว่าจะเคยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ก็ควรฉีดอีก เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีนจะไม่อยู่คงทนตลอดเท่าอายุขัยของคน
สำหรับวัคซีนป้องกันบาดทะยักนี้มีกำหนดเวลาฉีดวัคซีน
เริ่มจากเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 1 เดือน
และอีก 6 เดือนถึง 1 ปี ฉีดเข็มที่ 3 หลังจากนั้นฉีดทุก ๆ 10 ปี
ในกรณีที่สตรีไม่เคยฉีดมาก่อนเลยแต่กำลังจะแต่งงาน ก็ให้เริ่มฉีดได้
และหากจะตั้งครรภ์ควรรอหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 1 เดือน
เตรียมพร้อมก่อนสมรส... เตรียมตัวก่อนตั้งครรภ์
การไปตรวจสุขภาพร่างกายทั้งชายและหญิงก่อนจะใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน มีความสำคัญมาก
สามารถที่จะเตรียมความพร้อมของสภาพร่างกายก่อนตั้งครรภ์ได้
เพื่อตรวจดูว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีโรคร้ายที่จะถ่ายทอดทางการมีเพศสัมพันธ์
จนอาจจะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ ถ้าเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อนแล้ว
โรคที่เกิดจากแบคทีเรียบางชนิด และโรคที่เกิดจากไวรัสหลายชนิด
มีผลต่อการพัฒนา การสร้างอวัยวะของทารกในช่วง 3 เดือนแรก
อาจส่งผลให้สภาพร่างกายของทารกไม่สมบูรณ์เพียงพอ
ที่จะเจริญเติบโตต่อไป แล้วเสียชีวิตในที่สุด เกิดภาวะครรภ์ไข่ฝ่อ
หรือเกิดการแท้งบุตร ในช่วงการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรกได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าตรวจพบก่อนเกิดการตั้งครรภ์
ก็จะสามารถดูแลแก้ไขและรักษาให้หายได้ จนไม่เป็นภัยต่อการตั้งครรภ์ และการแท้งบุตร
สามารถตรวจหาภูมิต้านทานต่อโรค ที่เกิดจากหัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบบี
และสามารถให้ภูมิคุ้มกันโดยการฉีดวัคซีนให้ ในกรณีที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมาก่อน
การตรวจร่างกายฝ่ายหญิง ก็สามารถทราบได้ว่ามดลูกปกติไหม
มีเนื้องอกอยู่หรือไม่ รวมทั้งมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน มีพังผืด
หรือมีถุงน้ำของรังไข่หรือเปล่า
ถ้าตรวจพบก่อน ก็สามารถรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์
July 28, 2009
July 25, 2009
Mom health and nutrition
Keeping healthy and well-nourished will mean you have the energy to look after your newborn baby and be able to provide them with all of the goodness they need when breastfeeding
สุขภาพของ(ว่าที่)คุณแม่...สำคัญที่สุด
การมีสุขภาพดี หมายถึง การมีร่างกายที่สมบูรณ์ จิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน และสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข สุขภาพที่ดี เริ่มต้นที่ บ้าน ไม่ใช่โรงพยาบาล สุขภาพที่ดี เริ่มต้นจากตัวเอง...
ไม่ใช่ให้หมอสั่ง สุขภาพที่ดี ต้องแสวงหา... ไม่ใช่ลอยมาเอง
1. เริ่มจากมีความรักให้แก่ตัวเองก่อน
2. มอบความรักให้แก่กันในระหว่างสามีภรรยา เพราะความรักเป็นต้นกำเนิดแห่งมนุษยชาติ
3. มองโลกในแง่ดี คิดในทางบวก เพราะพลังอำนาจของความคิดสร้างสรรค์หรือการคิดในแง่ดีนั้น
มีมากมายกว่าที่คุณคิดมากนัก โดยเฉพาะเรื่องของการมีบุตร และการป้องกันการแท้งบุตร
4. รับประทานอาหารให้ครบถ้วนทุกหมวดหมู่
พยายามให้ได้แร่ธาตุและสารอาหารให้ครบถ้วน
โดยเฉพาะแร่ธาตุโฟเลตที่มีมากในนม และผักสีเขียวเข้ม
ซึ่งพบว่าช่วยป้องกันภาวะสมองและไขสันหลังพิการแต่กำเนิด
รวมทั้งอาจช่วยลดโอกาสการแท้งบุตรลงได้
5. หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชา กาแฟ
6. นอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง การเข้านอนแต่หัวค่ำจะทำให้ระบบการเจริญพันธุ์
ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์สามารถทำงานได้เต็มที่
จนเกิดการตกไข่ที่สมบูรณ์ ฝ่ายชายมีการผลิตตัวอสุจิที่สมบูรณ์เพียงพอ
ที่จะเกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่และตัวอสุจิ
จนเป็นตัวอ่อนที่มีสภาพสมบูรณ์มากพอที่จะไม่เกิดการแท้งบุตร
7. พยายามมีบุตรในช่วงเวลาที่สภาพร่างกายพร้อมที่สุด
เพื่อที่จะได้บุตรที่มีสภาพสมบูรณ์
และโอกาสเกิดการแท้งบุตรได้น้อยที่สุด
สำหรับผู้หญิง ในช่วงอายุ 25-30 ปี เป็นช่วงเวลาที่ดีเมื่อเกิดการตั้งครรภ์แล้ว
8. หลีกเลี่ยงจากสภาพการทำงานที่หนักเกินควร
โดยเฉพาะงานที่เคร่งเครียด เร่งรัด จนไม่มีเวลาพักผ่อน
9. ขจัดความเข้าใจผิด... ให้หมด เช่น......
@@@@@@
" อย่ามีอะไรกับแฟนเวลาตั้งท้องอ่อนๆ นะเธอ เดี๋ยวแท้ง ? "
ไม่จริงหรอกค่ะ ถ้ากระทำด้วยความนุ่มนวล
จนเกิดความสุขสมด้วยกันทั้งสองฝ่าย อาจจะช่วยผ่อนคลายให้หายเครียด
และลดโอกาสการแท้งบุตรจากสาเหตุบางชนิดลงไปด้วยก็ได้... ใครจะรู้
ที่จริง ถ้าไม่เคยมีประวัติการแท้งบุตรมาก่อน ไม่ได้มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์
ในระหว่างการตั้งครรภ์เลย ......
*************
" แพ้ท้องมากๆ ระวังนะเธอ จะทำให้แท้งบุตร ? "
แท้จริงแล้ว พบว่า การแพ้ท้องและอาเจียนส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องจากระดับของฮอร์โมน
จากเนื้อรกที่เรียกว่า "เบต้าเอชซีจี" มีระดับสูง
การที่ฮอร์โมนดังกล่าวมีระดับสูง จะช่วยให้รกเกาะมดลูกได้ดีขึ้น
ช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจากเนื้อรกมากขึ้น
ช่วยป้องกันการแท้งบุตรที่เกิดจากการที่รกฝังตัวไม่แน่นเสียอีก
เชื่อไหมคะว่า ส่วนใหญ่แล้ว มารดาตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้องมากๆ
ไม่ค่อยแท้งบุตรหรอกค่ะ ถ้าได้รับการดูแลอย่างดี และได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ......
###################
" ท้องที่แล้ว แท้งไป เพราะมดลูกไม่ดี เห็นเขาบอกกันว่า มดลูกคว่ำหลัง ที่ทำให้แท้งบุตรได้ง่าย ? "
การที่มดลูกคว่ำ ไม่ว่าจะคว่ำหน้าหรือคว่ำหลัง หรือจะอยู่ตรงกลาง
ก็เป็นตำแหน่งที่มดลูก สามารถที่จะอยู่ได้ โดยไม่ไปรบกวนต่อการตั้งครรภ์
จนเป็นสาเหตุของการแท้งบุตรแต่อย่างใดเลย เข้าใจนะคะ ......
-+-+-+-+-+-+-+-+-
" ถ้ามีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นอาการว่าจะแท้งบุตรแน่นอน
และถึงแม้ว่าจะรักษาได้ ลูกก็อาจจะพิการ ? "
ที่จริงแล้ว การมีเลือดออกทางช่องคลอดนั้น เป็นอาการทางการแพทย์
ที่เรียกว่า แท้งคุกคาม ไม่ได้หมายความว่าจะต้องแท้งบุตรเสมอไป
และเลือดที่ออกเป็นเลือดของมารดาค่ะ ไม่ใช่เลือดของลูกน้อยในครรภ์...
จึงไม่ควรตกใจมากเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการแท้งบุตรในช่วง 12 สัปดาห์แรกนั้น
ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของทารกในครรภ์
ที่อาจจะมีสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอที่จะเจริญเติบโตไปเป็นทารกที่สมบูรณ์ได้
ในระหว่าง 12 สัปดาห์แรก เป็นช่วงระยะเวลาในการสร้างอวัยวะต่างๆ ของลูกน้อย
ซึ่งถ้าร่างกายตรวจจับพบว่าไม่สมบูรณ์ ก็จะเกิดการขับทิ้งออกมา
เป็นการแท้งบุตร ในขณะที่สาเหตุของการแท้งบุตร ส่วนใหญ่พอจะช่วยเหลือได้
แต่ประมาณ 1 ใน 3 อาจเกิดจากการไม่สมบูรณ์ของทารกในครรภ์ก็เป็นได้ ดังนั้น
ถ้ามีอาการเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดแล้ว ขอให้รีบไปพบแพทย์
อย่าตกใจเกินกว่าเหตุ การเครียดมากจนเกินไปไม่มีประโยชน์อะไรเลย
นอกจากทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก ถ้าแพทย์สามารถรักษาให้ตั้งครรภ์ต่อไปได้
แสดงว่าทารกในครรภ์มีความสมบูรณ์พอที่จะเจริญเติบโตต่อไป
ก็ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะไม่สมบูรณ์ แต่ถ้ารักษาไปแล้ว ลูกในครรภ์ฝ่อไปหรือแท้งไป
ก็แสดงว่าลูกในครรภ์น่าจะมีความสมบูรณ์ไม่เพียงพอหรืออาจจะมีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งที่อาจจะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ แบบนี้ก็คิดว่า เขาบุญน้อย...ก็แล้วกัน
จำไว้ว่า การมองโลกในแง่ดี การคิดในทางที่ดีต่อลูกน้อยในครรภ์
การคิดถึงเขาด้วยความรักความเข้าใจ
ตั้งแต่เป็นลูกน้อยในครรภ์จะสามารถช่วยให้โอกาสการแท้งบุตรลดลงได้ไม่มากก็น้อย...
นอกจากการปฏิบัติตัวและการเตรียมตัวก่อนการตั้งครรภ์แล้ว ดูแลสุขภาพกายและใจของคุณให้ดีนะคะ...
Subscribe to:
Posts (Atom)